วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

พัฒนาการลูกน้อย - กระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาของเด็กพิเศษด้วย PECS

วิธีการสื่อสารโดยการแลกเปลี่ยนภาพ (Picture Exchange Communication System: PECS) 
(Frost and Brondy, 2002)




การสอนการสื่อสารกับเด็กออทิสติกโดยใช้ภาพ พัฒนาขึ้นโดย ดร.แอนดรู บอนดี้ และลอรี่ ฟรอส (Andrew S. Bondy & Lori Frost) แห่งรัฐเดลลาแวร์ ในปี 1985 ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นเครื่องมือในการสอนเด็กพิเศษและผู้ใหญ่ที่มีภาวะออทิสติกและผู้ที่มีปัญหาพัฒนาการด้านการสื่อสารอื่นๆ เพื่อให้รู้จักการสื่อสาร การใช้ PECS ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อนและมีราคาแพง 
การสอน PECS จะเริ่มจากการสอนเด็กให้รู้จักการแลกเปลี่ยนภาพสิ่งที่ตนเองต้องการกับผู้ฝึกสอนซึ่งจะให้สิ่งที่เด็กต้องการทันทีเมื่อได้รับภาพ ระบบการฝึกจะถูกสอนอย่างเป็นระบบ ใช้การกระตุ้นเตือนและหลักการให้สิ่งเสริมแรงซึ่งจะสร้างให้สามารถสื่อสารได้ด้วยตนเอง การกระตุ้นเตือนด้วยวาจาจะไม่ถูกนำมาใช้ การฝึกสอนด้วยระบบ PECS จะดำเนินต่อไปจนเด็กสามารถแยกภาพที่ตนเองต้องการได้ จนถึงสามารถนำภาพมาเรียงต่อกันจนกลายเป็นประโยคง่ายๆ ในระยะที่ก้าวหน้าที่สุด เด็กจะถูกสอนให้เสนอความเห็นและตอบคำถามที่ไม่ซับซ้อน เด็กวัยอนุบาลที่มีปัญหาพัฒนาการหลายๆ คนที่ใช้ PECS จะเกิดการพัฒนาการด้านการพูดในที่สุด จากการทดลองนำวิธีการของ PECS ไปใช้ในการสอนเด็ก ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่ให้การตอบสนองเป็นอย่างดี ได้ผลดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ขวบ ใช้กับเด็กที่อายุมากกว่า 7 ขวบก็ได้ แต่อาจจำเป็นต้องปรับปรุงวิธีการบางอย่าง หากเด็กสามารถสื่อสารได้ดีโดยวิธี PECS แล้ว เด็กจะเริ่มพูดได้เอง ซึ่งต่างจากวิธีฝึกพูดทั่วไปที่ผู้ฝึกสอนจะเป็นผู้เริ่มต้นการสื่อสาร เด็กเป็นคนพูดตาม เด็กไม่ใช่ผู้เริ่มต้นการสื่อสาร

พัฒนาการลููกน้อย - ภาษาของลูกรักใจวัยขวบปีแรก


เด็กทารกจะสื่อความต้องการต่างๆ ของตนเองด้วยการร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่จะเรียนรู้อย่างรวดเร็วในการที่จะเข้าใจว่าลูกร้องลักษณะอย่างไรเป็นการร้องบอกว่าหิว เหนื่อยหรือไม่สบาย ในช่วง เดือนแรกเด็กจะหันหาเสียงและจดจำเสียงที่คุ้นเคยได้ ลูกจะหยุดร้องไห้ถ้าคุณพ่อคุณแม่พูดคุยด้วย นอกจากนี้เด็กยังมีการยิ้มตอบถ้าเด็กรู้สึกพอใจหรือมีความสุข มีการเล่นเสียงอ้อแอ้ ทารกวัย 4-6 เดือนจะเริ่มรับรู้ว่าเสียงต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างกัน เช่น เสียงโทรศัพท์ เสียงเครื่องดูดฝุ่น เด็กเริ่มตอบสนองต่อเสียงที่ผู้ใหญ่บอกว่า อย่า” รู้จักฟังเพลง 
พัฒนาการลูกน้อยช่วงวัยนี้จึงเป็นวัยที่เด็กเริ่มหัดแยกแยะเสียงต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม เด็กจึงเริ่มเล่นเสียงที่มีระดับเสียงฟังแตกต่างกันไป เช่น ปาปามามา รวมทั้งเริ่มแสดงท่าทางในการบอกความต้องการ ทารกวัย เดือนถึง 12 เดือนจะเริ่มจำชื่อของตัวเองได้ โดยจะหันไปหาเสียงที่เรียกชื่อของเขา ถ้าผู้ใหญ่พูดด้วยก็จะแสดงท่าทางว่าฟัง เริ่มแสดงว่ารู้จักคำต่างๆ ที่ได้ยินบ่อยๆ เช่น แม่ นม เริ่มทำตามคำสั่งได้ เช่น มานี่” ฉะนั้นลูกจะเริ่มเรียนรู้คำศัพท์ซึ่งจำเป็นต่อการอ่านต่างๆ ในช่วงนี้ และเริ่มมีการพูดคำต่างๆ ตาม จึงเห็นว่าเด็กวัย 1 ปี จะพูดคำที่เป็น 1-2 พยางค์ได้ เช่น แม่ หม่ำ หรือบ้ายบายได้ เป็นต้น เด็กจะเริ่มใช้เสียงพูดบอกความต้องการหรือเรียกร้องความสนใจแทนการร้องไห้มากขึ้น การเล่นเสียงของเด็กจะมีลักษณะเสียงที่ยาวและสั้นรวม กัน เช่น มะมะมา
คุณพ่อคุณแม่จะช่วยลูกพัฒนาด้านภาษาในวัยนี้ได้อย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตความสามารถในการได้ยินของลูกอยู่ตลอดเวลานะคะ ปกติเด็กๆ มักเป็นหวัดกันบ่อยๆ ส่งผลให้หูของลูกอาจจะอักเสบได้ ยิ่งถ้าเกิดเป็นหูอักเสบเรื้อรังก็จะทำให้ระดับการได้ยินของลูกลดลงได้ ทำให้ลูกได้ยินเสียงต่างๆ ไม่ชัดเจน จึงควรให้การดูแลเอาใจใส่รักษาให้หายโดยเร็ว นอกจากนี้การที่พยายามเล่นกับลูก มองสบตากัน พูดคุยกับลูก ถ้าลูกเล่นเสียงก็เลียนแบบเสียงของลูก หรือเลียนแบบสีหน้าท่าทางที่ลูกแสดงออกก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของลูกได้ดี ในการเล่นกับลูกอาจสอนให้ลูกเล่นจ๊ะเอ๋ ตบมือ ตบแปะ แมงมุมขยุ้มหลังคา โบกมือบ๊ายบาย เพราะการเล่นลักษณะต่างๆ นี้จะมีการใช้ภาษาเข้ามาด้วย จะเป็นการช่วยลูกให้เข้าใจการสื่อสารในสังคมมากขึ้น วลาที่คุณพ่อคุณแม่ทำอะไรให้ลูก เช่น อาบน้ำ แต่งตัวหรือป้อนข้าว ก็ควรจะพูดกับลูกตลอดเวลาเหมือนกับการพากย์หนังนั่นละคะในทุกๆ กิจกรรมที่ทำกันจะเป็นการสอนคำศัพท์ต่างๆ ให้ลูกทางอ้อมทีเดียว

พัฒนาการลูกน้อย - ภาษา

ภาษาเป็นสิ่งสวยงามที่ทำให้เราสามารถบอกความต้องการ ความคิด ความรู้สึกของเราไปให้บุคคลอื่นๆ รับรู้และเข้าใจ ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้จักใช้เวลาที่อยู่กับลูกให้เป็นการส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยทางด้านนี้ก็จะเกิดประโยชน์แก่พัฒนาการของลูกโดยตรง เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่มีผลต่อความเร็วในพัฒนาการทางภาษาของลูก
ยกตัวอย่างเช่น ช่วงที่ลูกกำลังหัดยืนหรือเดิน ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตให้ดีหรือจำได้จะเห็นว่าลูกไม่ค่อยเล่นเสียงหรือพูดน้อยลงในช่วงนี้ เนื่องจากพัฒนาการลูกน้อยในด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่นั้น ลูกต้องใช้พลังงานรวมทั้งความตั้งใจอย่างมากในการที่จะเรียนรู้หรือฝึกฝนซ้ำๆ เพื่อให้เกิดความคล่องในทักษะนั้น จึงส่งผลให้พัฒนาการทางด้านภาษามีความเร็วช้าลง 
หรือการที่เด็กต้องได้ยินคำใหม่ๆ ในลักษณะ 2 ภาษานั้นเด็กต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการทำความเข้าใจถึงความหมาย วิธีการออกเสียง หรือกฎเกณฑ์ในการใช้คำนั้นถึง 2 ระบบทีเดียว กว่าเด็กจะเกิดความคิดรวบยอดว่าคำคำนั้นคืออะไร มีวิธีใช้อย่างไรต้องใช้เวลาเรียนรู้ที่นานขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “แก้วน้ำ” หรือ “glass” นั้นก็คือสิ่งเดียวกัน เด็กต้องใช้เวลาที่นานขึ้นจึงจะเข้าใจได้ จะเห็นว่าเด็กบางคนเมื่อต้องเรียนรู้ภาษาที่สองที่โรงเรียนนั้นเด็กจะค่อนข้างพูดน้อยลงกว่าปกติเพราะต้องการเวลาที่จะทำความเข้าใจมากขึ้น
นอกจากนี้การที่เด็กได้รับการตอบสนองจากบุคคลต่าง ๆ ที่เด็กพูดด้วยก็มีผลต่อความเร็วในพัฒนาการเด็กด้านภาษาเช่นกัน  ถ้าเด็กพูดกับคุณพ่อคุณแม่แล้วได้รับการตอบสนองที่ดี เช่น มีการมองสบตา ให้ความสนใจขณะที่ลูกพูดด้วย มีการโต้ตอบจากคนฟัง จะส่งผลให้เด็กคิดถึงสิ่งที่จะพูดมากขึ้นเป็นการฝึกขยายคำศัพท์ที่ต้องการจะบอกเล่ามากขึ้นจึงทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่เร็วขึ้นได้อีกทางหนึ่ง เด็กแต่ละคนจึงอาจมีพัฒนาการทางภาษาที่เร็วช้ากว่ากันขึ้นกับตัวอย่างปัจจัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่เด็กจะมีลำดับขั้นของพัฒนาการทางภาษาที่เหมือนกัน ฉะนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่พูดกับลูกหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อย ๆ  ตั้งแต่ในวัยเด็กเล็กนั้นจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาที่เร็วขึ้นและปลูกฝังการรักการอ่านอีกด้วย